การออกประกาศลดภาษีของเวียดนามเพื่อชดเชยความเสียหาย
ที่เกิดจากการชะลอการลดภาษีสินค้าจักรยานยนต์และส่วนประกอบยานยนต์
และการใช้กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าของอาเซียนแบบสะสม
___________________
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยเกี่ยวกับการที่เวียดนามชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการชะลอการลดภาษีสินค้าจักรยานยนต์และส่วนประกอบยานยนต์ และ การใช้กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าของอาเซียนแบบสะสม (Partial Cumulation) ดังนี้
1. จากการที่เวียดนามขอชะลอการลดภาษีสินค้าจักรยานยนต์และส่วนประกอบยานยนต์ และประเทศไทยได้ขอเจรจาเพื่อชดเชยความเสียหายจากเวียดนามนั้น กระทรวงการคลังเวียดนามได้ออกประกาศลดภาษีฯ แล้วโดยจะเร่งลดภาษีสินค้าจำนวน 36 รายการ ให้แก่สินค้าที่นำเข้าจากไทย ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มสินค้าสำคัญ คือ อาหารสัตว์ ปูนซีเมนต์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550 (ดูรายละเอียดสินค้าและอัตราภาษีในเอกสารแนบ 1)
2. ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ระหว่างวันที่ 24-25 เมษายน 2548 ณ เมืองฮาลองเบย์ ประเทศเวียดนาม ได้ให้ความเห็นชอบแนวทางการปฏิบัติ (Implementing Guidelines) สำหรับกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าของอาเซียนแบบสะสม (Partial Cumulation) แล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตในอาเซียนสามารถนำปัจจัยการผลิตที่มีสัดส่วนการผลิตในอาเซียนน้อยกว่าร้อยละ 40 แต่มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 20 มาสะสมเพื่อคำนวณเป็นวัตถุดิบในอาเซียน(ASEAN Content) (ดูระเบียบปฏิบัติในเอกสารแนบ 2)
ทั้งนี้ การลดภาษีให้แก่สินค้าที่นำเข้าจากไทยของเวียดนามจะทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปเวียดนามมีโอกาสขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสินค้าที่เวียดนามลดภาษีให้ไทยเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก สำหรับการใช้กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าแบบสะสม (Partial Cumulation) จะช่วยส่งเสริมให้มีการค้าภายในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตในอาเซียนจะมีทางเลือกในการซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น เพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป รวมทั้ง ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยสามารถส่งออกปัจจัยการผลิต สินค้าขั้นกลาง ไปยังประเทศอาเซียนอื่นเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป และส่งออกไปยังประเทศอาเซียนโดยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนได้ง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะทำให้มีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรจะใช้ประโยชน์ และเร่งปรับตัวเพื่อชิงความได้เปรียบจากการใช้กฎเกณฑ์ฯ ดังกล่าว
___________________
กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าของอาเซียนแบบสะสม (Partial Cumulation)
หลักการ
“ถ้าวัตถุดิบมีสัดส่วนการผลิตในอาเซียนน้อยกว่าร้อยละ 40 สัดส่วนที่จะนำมาคำนวณเป็นวัตถุดิบในอาเซียนแบบสะสมจะนับตามจริง โดยกำหนดขั้นต่ำที่ร้อยละ 20”
ระเบียบปฏิบัติ
1) สินค้าที่จะนำมาคำนวณวัตถุดิบแบบสะสม (Partial Cumulation) ต้องมี Local Content หรือ ASEAN Content ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20
2) ใช้วิธีคำนวณเช่นเดียวกับการคำนวณ Local/ASEAN Content ที่ร้อยละ 40
3) ปัจจัยการผลิตที่นำเข้ามาจากอาเซียนเพื่อใช้ผลิตต่อ ที่นำมาคำนวณวัตถุดิบแบบสะสม (มีสัดส่วนการผลิตในอาเซียนร้อยละ 20 ขึ้นไปแต่ไม่ถึงร้อยละ 40) จะไม่ได้รับอัตราภาษี CEPT
4) การนำเข้าปัจจัยการผลิตที่นำมาคำนวณวัตถุดิบแบบสะสม จะต้องมี Form D ที่มีการระบุ “FOR CUMULATION PURPOSES ONLY”
5) ใช้กฎระเบียบและวิธีการปฏิบัติอื่นๆ เช่นเดียวกับ Form D ปกติ (Form D จากการคำนวณ Local/ASEAN Content ที่ร้อยละ 40)
สามารถอ่านเอกสารโดยละเอียดได้จากเอกสารประกอบ