สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
Fiscal Policy Office
Search
เปลี่ยนการแสดงผล :
THTHLanguage
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) คืออะไร
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) คืออะไร

ตอบ   เป็นกองทุนรวมรูปแบบหนึ่งที่รัฐส่งเสริมให้มีขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันแก่ตนเองหรือครอบครัวเมื่อเกษียณอายุ โดยมีข้อกำหนดพิเศษแตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไป คือ ผู้ลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะไถ่ถอนเงินลงทุนได้ เมื่อผู้ลงทุนอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี และมีการลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี โดย RMF จะไม่มีการจ่ายเงินปันผลหรือเงินอื่นใดให้แก่ผู้ลงทุนในระหว่างการลงทุน
(1)  เงื่อนไขการลงทุน
 -  ผู้ลงทุนต้องซื้อหน่วยลงทุนของ RMF ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง และต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน
 -  ผู้ลงทุนต้องซื้อหน่วยลงทุนของ RMF ไม่น้อยกว่า 3 % ของเงินได้ในแต่ละปี หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี (กรณีผู้ลงทุนซื้อหน่วยลงทุนใน RMF หลายกองทุน ให้รวมการซื้อหน่วยลงทุนใน RMF ทุกกองทุน)
 -  กรณีที่ผู้ลงทุนปฏิบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุน ตามข้อ (1 )หรือข้อ (2) หรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนบางส่วนก่อนกำหนดในปีใด โดยผู้ลงทุนได้ชำระคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับไปในระยะเวลา 5 ปีย้อนหลังแล้ว และผู้ลงทุนได้ถือหน่วยลงทุนใน RMF ที่ยังคงเหลืออยู่ หากผู้ลงทุนประสงค์จะลงทุนต่อ โดยได้ลงทุนต่อเนื่องทันที ในปีที่ได้ชำระคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษี และผู้ลงทุนได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุนด้วยแล้ว ผู้ลงทุนสามารถนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนใน RMF ใหม่นี้ ต่อเนื่องกับระยะเวลาการลงทุนเดิมได้
 -  กรณีที่ผู้ลงทุนมีการลงทุนใน RMF มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และผู้ลงทุนมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี หรือทุพพลภาพ ผู้ลงทุนสามารถถือหน่วยลงทุนต่อไปได้ โดยจะซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มเติมหรือไม่ก็ได้ จะซื้อเป็นจำนวนเงินเท่าไรก็ได้ และหากเงินได้ที่นำมาซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มเติมอยู่ในประเภทเงินได้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ผู้ลงทุนก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของเงินลงทุนดังกล่าวด้วย
 -  ผู้ลงทุนไม่สามารถนำหน่วยลงทุนของ RMF ไปจำหน่ายจ่ายโอน จำนำ หรือนำไปเป็นประกัน
(2)  สิทธิประโยชน์ทางภาษี  
เงินลงทุนใน RMF ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริง โดยเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ กบข. แล้วไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 300,000 บาท ในแต่ละปีภาษี เงินที่ไถ่ถอนจาก RMF เมื่อผู้ลงทุนอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงทุนครั้งแรก จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวน  กรณีไถ่ถอนเนื่องจากผู้ลงทุนทุพพลภาพหรือตาย เงินที่ไถ่ถอนจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวน
ประเภทของเงินได้ที่ลงทุนใน RMF โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
 -  เงินได้จากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำนาญ
 -  เงินได้จากการรับทำงานให้
 -  เงินได้จากค่าลิขสิทธิ์ที่ไม่ได้รับโอนมาทางมรดก
 -  เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม เป็นต้น
 -  เงินได้จากการรับเหมา
 -  เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง
(3)  การลงทุนของ RMF
RMF เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง จึงสามารถลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินประเภทเดียวกับที่กองทุนรวมลงทุนได้ เช่น ตราสารแห่งทุน ตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เป็นต้น
(4)  นโยบายการลงทุน
ผู้ลงทุนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนของ RMF ได้ตามความเหมาะสมของผู้ลงทุน โดยศึกษาจากหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของ RMF ซึ่งนโยบายการลงทุน ได้แก่ กองทุนรวมตราสารแห่งทุน กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะยาว กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะสั้น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมผสม กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น กองทุนรวมหน่วยลงทุน กองทุนรวมใบสำคัญแสดงสิทธิ และกองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ
(5) การโอนย้ายการลงทุนใน RMF
ผู้ลงทุนสามารถโอนย้ายการลงทุนทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนจาก RMF หนึ่งไปยัง RMF อื่นได้ โดยอาจโอนย้ายการลงทุนไปยังกองทุนรวมเดียวหรือหลายกองทุนรวมก็ได้ หากมีการโอนย้ายภายใน 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่กองทุนรวม RMF เดิมได้รับคำสั่งโอนย้ายจากผู้ลงทุน ผู้ลงทุนจะสามารถนับระยะเวลา การถือหน่วยลงทุนต่อเนื่องกันได้
(6)  ข้อดีของ RMF
 -  ผู้ลงทุนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนเองได้
 -  ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการออมเพื่อเป็นหลักประกันแก่ตนเองหรือครอบครัวเมื่อพ้นวัยทำงาน โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
(7)  สิทธิประโยชน์ทางภาษีของผู้ลงทุนใน RMF
 -  เงินลงทุนใน RMF ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ ตามที่จ่ายจริง ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ โดยเมื่อรวมกับเงินสะสม เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. แล้วไม่เกิน 300,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
 -  เงินที่ไถ่ถอนจาก RMF เมื่อผู้ลงทุนอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงทุนครั้งแรก จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวน
 -  กรณีไถ่ถอนเนื่องจากผู้ลงทุนทุพพลภาพหรือตาย เงินที่ไถ่ถอนจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวน
 -  เริ่มได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับเงินได้ ปี 2544 เป็นต้นไป
(8)  การชำระคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับไปกรณีผู้ลงทุนปฏิบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุน
ในกรณีที่ผู้ลงทุนได้ซื้อหน่วยลงทุนใน RMF โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของเงินลงทุนไปแล้ว ต่อมาผู้ลงทุนปฏิบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุน ผู้ลงทุนจะหมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ของเงินลงทุนใน RMF และต้องชำระคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับไปในระยะเวลา 5 ปีย้อนหลัง หากผู้ลงทุนได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม เพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าว ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน ผู้ลงทุนจะไม่ต้องชำระเงินเพิ่มอีก 1.5 % ต่อเดือนของภาษีส่วนที่จ่ายขาดไป
(9)  บริษัทจัดการ
บริษัทที่จัดการ RMF ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม