ตอบ ภายใต้ความร่วมมือในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ นอกจากจะมีความร่วมมือเพื่อลดภาษีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ที่ประเทศสมาชิกจะต้องลดภาษีสินค้าเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างกันแล้ว ยังมีความร่วมมือทางการเงินระหว่างกันด้วย ซึ่งจะเป็นเวทีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสมาชิกอาเซียนจะมาประชุมกันปีละครั้ง (ASEAN Finance Ministers Meeting) โดยก่อนหน้าจะมีการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน จะมีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่เพื่อรายงานผลการประชุมตามลำดับชั้นขึ้นไป
ต่อมาได้มีการขยายความร่วมมือทางการเงินครอบคลุมถึงอาเซียน+3 (ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ + จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ซึ่งจะมีการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสมาชิกอาเซียน+3 กันปี ละครั้ง (ASEAN +3 Finance Ministers Meeting) จะมีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน +3 และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาเซียน +3 เพื่อรายงานผลการประชุมตามลำดับชั้นขึ้นไปเช่นเดียวกัน
สาระสำคัญ
1. การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสมาชิกอาเซียนครั้งที่ 7 ที่ผ่านมาได้มีการหารือกันในประเด็นภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคร่วมกับผู้บริหารระดับสูงจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศได้แก่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเซีย ประเด็นความร่วมมือทางศุลกากร ในการจัดทำพิกัดอัตราศุลกากรร่วมอาเซียน (ASEAN Harmonized Tariff Nomenclature: AHTN) เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและสนับสนุนการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน ให้มีการประกอบธุรกรรมการค้าระหว่างอาเซียนสะดวกมากขึ้นโดยการใช้พิกัดอัตราศุลกากรร่วมในระดับรหัสตัวเลข 8 หลัก ภายใต้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและโปร่งใส มีคำอธิบายและวิธีการใช้ที่เป็นรูปแบบเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการหารือแนวทางการรวมตัวทางการเงินของประเทศสมาชิกอาเซียน (Roadmap for Integration of ASEAN in Finance: RIA Finance) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ด้านหลักได้แก่
(1) แนวทางการรวมตัวของประเทศสมาชิกอาเซียนด้านการเงิน โดยการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน (Roadmap on Financial Service Liberalization) โดยกระทรวงการคลังประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานหลัก
(2) แนวทางการรวมตัวของประเทศสมาชิกอาเซียนด้านการเปิดเสรีบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย (Roadmap on Capital Account Liberalization) โดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานหลัก
(3) แนวทางการรวมตัวของการพัฒนาตลาดทุนอาเซียน (Roadmap on Capital Market Development) ประเทศสิงคโปร์เป็นผู้ประสานงานหลัก
(4) แนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเงินตราสกุลอาเซียน (Roadmap on
ASEAN Currency Cooperation) ประเทศมาเลเซีย เป็นผู้ประสานงานหลัก ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบต่อร่าง RIA - Finance ดังกล่าว โดยมุ่งหวังให้มีข้อจำกัดระหว่างกันน้อยที่สุดในด้านการค้าบริการด้านการเงิน การเคลื่อนย้ายเงินทุน การลงทุนและความร่วมมือทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตามเนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ดังนั้น การดำเนินการตามแนวทางการรวมตัวดังกล่าว จะดำเนินไปทีละขั้นตอนเพื่อมิให้เกิดผลเสียแก่ประเทศสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่ง นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาถึงมาตรการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินประเภทอื่นๆ อาทิ การปรับปรุงระบบระวังภัยทางเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศของสมาชิกอาเซียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และการให้ความสำคัญต่อมาตรการการต่อต้านอาชญากรรมทางการเงิน
2. สำหรับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน +3 ในปี 2546 ที่ผ่านมา ได้มีการหารือในประเด็นภาวะเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเชิงนโยบายในกรอบ
อาเซียน + 3 ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเซีย และประเด็นอื่นๆ ดังนี้
2.1 ความตกลงริเริ่มที่เชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative � CMI) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประเทศสมาชิก ในกรณีที่ประสบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่อง ทั้งนี้ความตกลงริเริ่มที่เชียงใหม่ มีองค์ประกอบหลัก 2 ส่วน คือ
2.1.1 ความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราอาเซียน (ASEAN Swap Arrangement � ASA) โดยการจัดตั้งในรูปของกองทุนที่ประเทศสมาชิกจะร่วมลงเงินจำนวนหนึ่ง และสามารถขอกู้ได้เมื่อมีความจำเป็น ปัจจุบันมีวงเงินที่ประเทศสมาชิกอาเซียนลงเงินไว้ทั้งหมด 1 พันล้านเหรียญ สรอ. ในส่วนนี้ประเทศไทยได้ลงเงินเป็นจำนวน 150 ล้านเหรียญ สรอ. และสามารถกู้ได้ในวงเงิน 300 ล้านเหรียญ สรอ. และในปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการขยายสมาชิกภาพให้ความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราอาเซียนครอบคลุมประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ
2.1.2 ความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราทวิภาคี (Bilateral Swap Arrangement � BSA) เป็นมาตรการที่คล้ายคลึงกับ ASA แต่เป็นการทำการตกลงแบบทวิภาคี โดยที่ประเทศไทยได้ลงนามในความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราทวิภาคีกับ ญี่ปุ่น (3 พันล้านเหรียญ สรอ. เมื่อ 30 ตุลาคม 2544) และจีน (2 พันล้านเหรียญ สรอ. เมื่อ 6 ธันวาคม 2544) และลงนามกับสาธารณรัฐเกาหลี ในวงเงิน 1 พันล้านเหรียญ สรอ.เมื่อ11 มิถุนายน 2545 เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันได้มีการลงนามในสัญญา BSA แล้วทั้งสิ้น 12 สัญญา ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียน + 3 (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) รวมทั้งสิ้น 31.5 พันล้านเหรียญ สรอ. โดยที่ ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศแรกที่ได้ลงนามสัญญา BSA กับประเทศสมาชิกอาเซียน + 3 ครบทั้ง 3 ประเทศ
2.2 ระบบระวังภัยเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Surveillance Process � ASP) เป็นมาตรการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อ ตรวจสอบสภาวเศรษฐกิจในประเทศสมาชิกอาเซียน
รวมถึงประเด็นความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในอนาคตได้ ทั้งนี้ได้มีการจัดตั้งหน่วยระวังภัยเศรษฐกิจ (National Surveillance Unit) ในประเทศสมาชิก 6 แห่ง ได้แก่ กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และประเทศไทยโดยได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจาก ASEAN Surveillance Technical Support Unit ภายใต้ธนาคารพัฒนาเอเซีย และมี Finance and Macroeconomic Surveillance Unit ภายใต้สำนักเลขาธิการอาเซียนเป็นผู้ประสานงาน ทั้งนี้หน้าที่หลักของหน่วยระวังภัยเศรษฐกิจคือการจัดทำ ASEAN Surveillance Report เพื่อใช้ในการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจภายในภูมิภาค
ในการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนครั้งที่ผ่านมาได้มีการถกประเด็นเรื่องภาวะเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคโดยพบว่าเศรษฐกิจในปี 2002 และไตรมาสแรกของปี 2003 เติบโตอย่างแข็งแกร่งมากกว่าที่ได้มีการคาดการไว้ทั้งนี้เนื่องมาจากการฟื้นตัวในอุปสงค์มวลรวมภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุปโภคและการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ที่ประชุมยังเน้นถึงความสำคัญของการสนับสนุนอุปสงค์มวลรวมภายในประเทศ ผ่านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดและขนาดย่อม (SMEs) นอกจากนี้ประเทศสมาชิกควรรักษาวินัยทางการคลัง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลางและในระยะยาวต่อไป
2.3 ประเด็นมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเซีย (Asian Bond Market Initiative: ABMI) ในกรอบการประชุม ASEAN + 3 เป็นกรอบการประชุมที่ผลักดันมาตรการริเริ่ม
การพัฒนาพันธบัตรเอเชียในด้านอุปทาน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่การซื้อขายพันธบัตรเอเชียระหว่างประเทศในภูมิภาค
ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเชียน + 3 ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 6 - 7 สิงหาคม 2546 ณ กรุงมะนิลา ประเทศพิลิปปินส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
อาเชียน + 3 ได้พิจารณาถึงความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการพัฒนาพันธบัตรเอเชีย ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานของคณะทำงาน (Voluntary Working Groups) ขึ้น 6 กลุ่ม ได้แก่
(1) Group of Volunteers on Creating New Debt Instruments โดยการนำของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงการคลังประเทศไทยเป็นผู้นำของกลุ่มนี้ โดยมีเป้าหมายหลัก
ในการวิเคราะห์/ศึกษาแนวคิดในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับตลาดพันธบัตรเอเชีย เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชียต่อไปในอนาคต
(2) Group of Volunteers on Credit Guarantee Mechanisms โดยการนำของสาธารณรัฐเกาหลีเป็นผู้นำการศึกษาในเรื่องการประกันความเชื่อถือ ซึ่งครอบคลุมถึงการพิจารณาจัดตั้ง Regional Credit Guarantee Facility
(3) Group of Volunteers on Settlement and Foreign Exchange Regulation โดยประเทศมาเลเซียเป็นผู้นำการศึกษาเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ และกฎเกณฑ์การนำเงินทุนเข้าและออกของแต่ละระบบเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการซื้อขายเปลี่ยนมือพันธบัตรเอเชียระหว่างประเทศในภูมิภาค
(4) Group of Volunteers on Issuance of Bond Denominated in Local Currency by Multinational Development Bank (MDBs), Government Agencies, and Asian Multinational Corporations โดยการนำของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่พิจารณาถึงการออกพันธบัตรเป็นเงินสกุลท้องถิ่น โดยสถาบันการเงิน/องค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ADB JBIC หรือบรรษัทระหว่างประเทศ (Multinational Corporation: MNC) เป็นต้น
(5) Group of Volunteers on Local and Regional Credit Rating Agencies โดยการนำของประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นร่วมเป็นผู้นำศึกษาเรื่องดังกล่าว เพื่อศึกษาแนวทาง
ในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรเอเชีย
(6) Group of Volunteers on Technical Assistance Coordination Group โดยการนำของประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เพื่อบ่งชี้ถึงประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ
ที่ประเทศสมาชิกอาจต้องการความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ
ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งคณะทำงานดังกล่าว เพื่อศึกษาและดำเนินการในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ABMI ซึ่งจะทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ
2.4 ประเด็น ASEAN +3 Research Group กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้นำเสนอแผนงาน (Proposal) การจัดตั้ง ASEAN +3 Research Group ซึ่งประกอบด้วยสถาบันวิจัยของประเทศสมาชิก ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาและบุคลากรจากกระทรวงการคลังและธนาคารกลางของประเทศสมาชิก มีวัตุประสงค์เพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งภายใต้มาตรการว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค (Regional Financial Cooperation Initiatives) และคาดว่าจะสามารถจัดตั้งให้แล้วเสร็จได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2547
ผลประโยชน์ที่จะได้รับ
กรอบความร่วมมือดังกล่าวทำให้มีการหารือแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิกตลอดจนการประสานความร่วมมือหาแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียโดยรวมในอนาคต