ตอบ การประชุม ASEM Finance Ministers� Meeting เป็นเวทีการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของ Asia และ Europe โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาค ความร่วมมือด้านมาตรการการเงินต่างๆ อาทิ ให้คณะกรรมาธิการยุโรปศึกษาและพัฒนาแผนงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบและกฎเกณฑ์การควบคุมตลาดเงินที่ใช้อยู่
สาระสำคัญของการประชุมที่ผ่านมา
โดยในปี 2546 ได้ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซม ครั้งที่ 5 (The Fifth ASEM Finance Ministers� Meeting ซึ่งที่ประชุมได้หารือในประเด็นสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.ภาพรวมเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยในปี 2546 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเซียตะวันออกจะลดลงเท่ากับร้อยละ 5.75 ก่อนที่คาดว่าจะฟื้นตัวเป็นร้อยละ 6.25 ในปี 2547
2. การพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย ประเทศไทยได้มีบทบาทสำคัญในกรอบความร่วมมือในภูมิภาคต่างๆ เช่น การจัดตั้ง Asian Bond Fund 1 (ABF) วงเงิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยธนาคารกลางภาคพื้นเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EMEAP) เพื่อลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจในเอเชียที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มอุปสงค์ในตลาดพันธบัตรเอเชีย และได้กล่าวถึงการประชุม ACD Ministerial Meeting ครั้งที่ 2 ณ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21-22 มิถุนายน 2546 ที่มีการประกาศปฏิญญาเชียงใหม่ว่าด้วยการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Chiang Mai Declaration on Asian Bond Markets Development) ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศในเอเชียที่จะร่วมการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชียต่อไป ในการนี้ ผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้แสดงความสนับสนุน และแจ้งว่ายินดีให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการจากประสบการณ์ของยุโรปเพื่อให้การพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชียได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3.การต่อต้านการสนับสนุนการเงินในการก่อการร้าย และการต่อต้านการฟอกเงิน (Combating the Financing of Terrorism and Money Laundering) ประเทศไทยเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีบทบาทอย่างมากในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งในด้านการเข้าร่วมกับองค์กรระหว่างภูมิภาค เช่น EGMONT Group และ Asia Pacific Group on Money Laundering (APG) รวมถึงการดำเนินการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยกำหนดให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
4. การประชุมระดับทวิภาคี การเดินทางไปร่วมประชุมในครั้งนี้ ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ ได้เจรจาทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่ 2 ของมาเลเซีย ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการตกลงร่วมกันในทางปฏิบัติ การนำเข้าและส่งออกสินค้าที่ต้องผ่านด่านศุลกากรให้มีความสะดวกรวดเร็ว โดยมีด่านตรวจสินค้าเพียงด่านเดียว และได้มีการลงนามความร่วมมือด้านศุลกากร และการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2546
อนึ่ง ประเทศไทยได้รับแจ้งการอนุมัติเงิน 3 ล้านเหรียญจากกองทุน ASEM Trust Fund สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วย
ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ
ในกรอบความร่วมมือดังดังกล่าวได้มีผลทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างยุโรปกับเอเซียอย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะในเรื่องการให้การสนับสนุน Asian Bond Markets Development ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียโดยรวมในอนาคต