ตอบ
1. ความเป็นมา
1.1 การเจรจาการค้าบริการด้านการเงินภายใต้กรอบของ World Trade Organisation (WTO) ได้มีการพัฒนาการมาจากการเจรจาการค้าบริการภายใต้กรอบของการเจรจารอบอุรุกวัย โดยได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น World Trade Organisation (WTO) นับตั้งแต่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นมา ในการเจรจาภายใต้ WTO ดังกล่าว ประเทศสมาชิกซึ่งรวมถึงประเทศไทยจะต้องดำเนินการเปิดเสรีตามความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services: GATS) ซึ่งใช้เป็นกฎเกณฑ์และกติกาสำหรับการเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการ (Trade in Services) โดยสาขาการเงินได้ถูกรวมเป็นการค้าบริการสาขาหนึ่งภายใต้ GATS 1.2 สาระสำคัญของความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการด้านการเงินสรุปได้ ดังนี้
1.2.1 การเข้าสู่ตลาด (Market Access) เป็นหลักการที่สำคัญมากเกี่ยวกับการเปิดตลาดให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจการค้าบริการด้านการเงินภายในประเทศ การเปิดตลาดการค้าบริการด้านการเงินตาม GATS ประกอบด้วย 4 รูปแบบ ดังนี้
(1) Mode1 Cross-border supply การให้ธุรกิจการเงินต่างประเทศสามารถเสนอบริการข้ามพรมแดนมาได้
(2) Mode 2 Consumption abroad การให้ผู้ใช้บริการในประเทศเข้าไปใช้บริการการเงินในต่างประเทศได้
(3) Mode 3 Commercial presence การให้ธุรกิจการเงินต่างประเทศเข้ามาเปิดดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ในประเทศได้ เช่น การถือหุ้น การเปิดสาขา
(4) Mode 4 Presence of natural persons การอนุญาตให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินของต่างประเทศเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศได้
1.2.2 การเปิดตลาดของประเทศสมาชิก WTO ต้องกระทำภายใต้กฎการให้การประติบัติแก่ชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favored Nation Treatment: MFN) เมื่อประเทศสมาชิกได้เปิดตลาดแล้ว จะต้องเปิดตลาดให้แก่ประเทศต่างๆ โดยเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตามหากประเทศสมาชิกไม่พร้อมที่จะให้การประติบัติตามข้อนี้ ก็สามารถจะขอยกเว้นหรือผ่อนผัน (MFN Exemption) ไประยะหนึ่งจนกว่าจะปรับตัวได้
1.2.3 การที่ประเทศสมาชิกจะต้องเปิดเผยข้อมูลกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ภายในประเทศ
ให้สมาชิกภาคีทราบเพื่อประโยชน์ในการขยายการเปิดเสรีระหว่างประเทศภาคี โดยการเปิดเสรีเพิ่มเป็นลำดับ (Progressive Liberalization) ภายใต้ข้อตกลง GATS มีหลักการที่เปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาเปิดเสรีการค้าบริการเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เพื่อให้ประเทศดังกล่าวสามารถปรับตัวได้ ซึ่งเมื่อเปิดเสรีแล้วประเทศนั้นไม่สามารถถอยกลับได้ (roll back)
1.2.4 การให้การประติบัติแก่ธุรกิจต่างประเทศที่เท่าเทียมกับการให้การประติบัติแก่ธุรกิจของชนชาติ (National Treatment: NT) เป็นหลักการที่สำคัญอีกหลักการหนึ่งของการเจรจาภายใต้กรอบของ WTO เพราะถือว่าการให้การประติบัติแก่ต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศเท่าเทียมกับคนชาติ เป็นวิธีการขยายการค้าให้กว้างขวางขึ้นวิธีหนึ่ง ดังนั้นในการให้การผูกพันของประเทศสมาชิกใดที่ระบุว่าให้การประติบัติเยี่ยงชนชาติได้จะทำให้ประเทศสมาชิกอื่นยอมรับว่าได้มีการเปิดตลาดให้กับประเทศอื่นๆ
1.2.5 การเปิดตลาดของประเทศภาคีต้องกระทำในรูปของความผูกพันหรือการให้พันธะ (Commitment) ซึ่งหมายความว่ามาตรการต่างๆ ของประเทศภาคีที่ได้ผูกพันไว้จะไม่ลบล้างพันธะที่ประเทศภาคีได้ให้ไว้แก่ WTO หากมีการละเมิดก็จะนำไปสู่การเกิดข้อพิพาทได้ซึ่งต้องใช้กระบวนการวินิจฉัยของ WTO เข้าแก้ไขหรือตัดสิน อนึ่ง โดยที่การเจรจาการค้าบริการการเงินภายใต้กรอบของ WTO มีหลักการเพื่อขยายการค้าให้กว้างขวางขึ้นและเปิดตลาดให้กว้างขึ้น ดังนั้นประเทศสมาชิก WTO ควรให้การผูกพันการเปิดตลาดการเงินขั้นต่ำสุดตามที่กฎหมายภายในประเทศอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจการเงิน (Standstill Commitments หรือ Existing Regime Commitments) ข้อเสนอการผูกพันการเปิดตลาด มีชื่อเป็นทางการว่า (Schedule of Specific Commitments หรือ Offers) ซึ่งประเทศสมาชิก WTO รวมทั้งประเทศไทยต้องยื่นข้อเสนอตารางข้อผูกพันการเปิดตลาดการเงินเบื้องต้น (Initial Offers) ยื่นต่อสำนักเลขาธิการ WTO เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะร่วมขยายการค้าบริการสาขาการเงิน ซึ่งในการเจรจาฯ นอกจากประเทศสมาชิกต้องเสนอตารางให้การผูกพันการเปิดตลาดการเงินเบื้องต้นที่จะใช้ในการเจรจาแล้ว ประเทศสมาชิกยังสามารถเจรจาทวิภาคีโดยยื่นข้อเรียกร้องทางการเงิน (Requests) ต่อประเทศสมาชิกที่ตนสนใจจะเข้าไปดำเนินธุรกิจการเงินได้
2. สรุปสถานภาพการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินสาขาการธนาคารและการบริการทางการเงินอื่นๆ
ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในรอบที่ผ่านมา การเจรจาภายใต้กรอบ WTO ประเทศไทยได้มีการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินโดยมีข้อผูกพันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสาขาการธนาคารและการบริการด้านการเงินอื่นๆ (ไม่รวมธุรกิจประกันภัย) ดังนี้
2.1. ข้อจำกัดในส่วนของการเข้าสู่ตลาด (Market Access)
(1) ไม่มีข้อจำกัดใดๆ สำหรับสำนักงานตัวแทนธนาคารต่างประเทศ (Representative office of banks)
(2) การตั้งสาขาธนาคารต่างชาติ (Foreign bank branch)
(2.1) การตั้งสาขาธนาคารต่างชาติจะต้องเป็นธนาคารที่ประกอบการอยู่แล้ว ส่วนการออกใบอนุญาตใหม่ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
(2.2) การให้บริการ ATM ของสาขาธนาคารต่างชาติจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้
- จะต้องร่วมให้บริการ ATM (ATM pool) กับเครือข่ายธนาคารพาณิชย์ไทย
- สามารถให้บริการได้ภายในบริเวณที่ตั้งของตน หรือใช้ที่ร่วมกับธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศไทย
(2.3) การขยายจำนวนสาขาธนาคารต่างชาติ จะได้รับอนุญาตให้ตั้งสาขาเพิ่มเติมจากสาขาแรกอีกได้ไม่เกินสองสาขา สำหรับธนาคารต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการก่อนเดือนกรกฎาคม 1995 เท่านั้น
(2.4) ไม่มีข้อจำกัดใดๆ สำหรับการให้บริการ Cheque clearing และ Settlement system
(3) Locally incorporated banks
(3.1) ต้องเป็นการถือหุ้นร่วมกับธนาคารที่ประกอบการอยู่แล้วเท่านั้นชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของเงินทุนจดทะเบียน โดยแต่ละบุคคลสามารถถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของเงินทุนจดทะเบียน
(3.2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้มากกว่าข้อ (3.1) หากธนาคารดังกล่าวมีความจำเป็นต้องฟื้นฟูกิจการโดยผู้ถือหุ้นดังกล่าวได้รับสิทธิให้คงจำนวนดังกล่าวเป็นระยะเวลา 10 ปี
(3.3) ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยไปกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนผู้บริหารทั้งหมด
(4) การให้บริการกิจการวิเทศธนกิจ (International banking facility: IBF) การออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจได้ จะต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการคลัง
2.2 ข้อจำกัดในด้านบุคลากรต่างชาติที่เข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย
(1) 2 คน สำหรับการดำเนินงานของธนาคารในแต่ละสำนักงานตัวแทน (Representative office)
(2) 6 คน สำหรับการดำเนินงานของธนาคารในแต่ละสาขาที่ได้รับใบอนุญาตแบบ Full-licensed branch
(3) 4 คน สำหรับการดำเนินงานของธนาคารในแต่ละสาขาที่เป็น BIBF branch
(4) 2 คน สำหรับการดำเนินงานของธนาคารในแต่ละสาขาที่เป็น PIBF branch
(5) 8 คน สำหรับการดำเนินงานของธนาคารที่เป็น Full-licensed and BIBF branch
ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ
การเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินใต้กรอบ WTO เป็นการส่งเสริมการค้าการลงทุนแก่สมาชิก WTO 146 ประเทศ การสร้างขีดความสามารถสถาบันการเงินไทย ส่งเสริมให้ระบบการเงินมีความแข็งแกร่งและเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศประเภทธุรกิจการธนาคาร และการบริการทางการเงิน (ไม่รวมการประกันภัย) ที่ประเทศไทยได้เปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาให้บริการ ประกอบด้วย
(1) การรับฝากเงิน และการรับชำระเงิน (Payable funds) จากประชาชน
(2) การให้สินเชื่อทุกประเภท (Lending of all types; consumer credit, mortgage credit, factoring and financing of commercial transactions)
(3) การให้บริการลีสซิ่ง (Financial Leasing)
(4) การบริการชำระเงินและการส่งเงิน (Payment and money transmission services credit charge and debit cards, travelers cheques and bankers drafts)
(5) การค้ำประกันและภาระผูกพัน (Guarantees and commitments)
(6) ธุรกรรมที่เกี่ยวกับการค้าขายแลกเปลี่ยนทั้งในบัญชีของธนาคารและบัญชีของลูกค้า ได้แก่
(6.1) ตราสารทางการเงิน (Money market instruments)
(6.2) การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Foreign exchange)
(6.3) ตราสารเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ย (Exchange rate and interest rate instruments)
(6.4) หลักทรัพย์ที่เปลี่ยนมือได้ (Transferable securities)
(7) การร่วมออกหลักทรัพย์ทุกประเภท รวมถึงการรับประกัน การจัดจำหน่าย และการจำหน่ายในฐานะตัวแทนบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นดังกล่าว
(8) การบริหารหลักทรัพย์จัดการลงทุน (Asset Management) ดังต่อไปนี้
(8.1) การบริหารเงินสด (Cash) หรือหลักทรัพย์ (Portfolio)
(8.2) การบริหารการลงทุน (Collective investment)
(8.3) การดูแลทรัพย์สิน (Custodial services) และ การบริการรับฝาก (depository services)
(9) การให้คำแนะนำ (Advisory) การเป็นตัวกลาง (Intermediation) และบริการเสริมอื่นๆ ด้านการเงิน (Other auxiliary financial services)
(10) การจัดหา และการให้บริการข่าวสารทางการเงิน และการประมวลข้อมูลด้านการเงิน และ software ที่เกี่ยวข้องของผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ (Provision and transfer of financial information, and financial data processing and related software)