ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ร้อนแรงมากข่าวหนึ่งบนเวทีเศรษฐกิจโลก คงหนีไม่พ้นเรื่องที่สหราชอาณาจักร
ประกาศว่าจะเริ่มจัดเก็บภาษีบริการดิจิทัล (Digital Services Tax) ในเดือนเมษายน ปี 2020 ซึ่งความจริงแล้วนั้น แนวคิดในการจัดเก็บภาษีดังกล่าว
ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งจะถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกแต่มีการพูดถึงมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วโดยในช่วงต้นปี 2018 คณะกรรมาธิการยุโรป (European
Commission) ก็ได้มีการกล่าวถึงเรื่องของการออกกฎระเบียบในการจัดเก็บ Digital Services Tax เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หลายประเทศหันมาให้ความสนใจกับ Digital Services Tax เนื่องจากในปัจจุบัน ธุรกิจที่มีการให้บริการไปทั่วโลก
ผ่านระบบดิจิทัล ที่อยู่ในรูปของ Social media platform, Search engine หรือ Online marketplace เช่น Facebook, Google หรือ Amazon นั้น
มีการสร้างมูลค่าทางธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ในอดีตไม่เคยมีมาก่อนคือการนำข้อมูลของผู้ใช้บริการของตนมาประมวลผลโดยใช้ระบบเทคโนโลยีชั้นสูง
และนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่กิจการตัวอย่างเช่น นาย A ใช้บริการ Social media ของบริษัทแห่งหนึ่ง
เวลาที่นาย A เข้าไปใช้บริการ Social media นั้น ระบบของบริษัทก็จะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่นาย A ค้นหา กดถูกใจ กดแชร์ หรือกดติดตาม
และนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลผลเพื่อหาความชื่นชอบหรือความสนใจเฉพาะตัวของนาย A โดยข้อมูลเหล่านี้ต่อมาจะถูกบริษัทนำไปใช้ประโยชน์
ในการกำหนดโฆษณาให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายของลูกค้า
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า การขายโฆษณาของบริษัทส่วนหนึ่งเกิดจากข้อมูลที่บริษัทเก็บรวบรวมได้จากผู้ใช้บริการ หรืออีกนัยหนึ่งคือ
มูลค่าของกิจการเกิดขึ้น ณ ประเทศที่นาย A อาศัยอยู่ และการโฆษณาดังกล่าวก็เป็นการโฆษณาไปยังนาย A โดยตรง แต่เมื่อวิเคราะห์
ตามกฎระเบียบทางภาษีระหว่างประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบันรายได้จากการขายโฆษณาทั้งหมดจะถูกเก็บภาษี ณ ประเทศที่มีการขายโฆษณา
ซึ่งมักจะเป็นประเทศที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทนั้นตั้งอยู่ ส่งผลให้เกิดความไม่เชื่อมโยงกันระหว่างประเทศที่มีการสร้างมูลค่ากับประเทศที่ภาษี
ถูกเรียกเก็บ
ด้วยเหตุนี้เอง ทางสหราชอาณาจักรจึงมีแนวคิดที่จะออกกฎระเบียบเกี่ยวกับ Digital Services Tax เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น ซึ่งสามารถ
สรุปสาระสำคัญของแนวคิดได้ดังนี้
-
Digital Services Tax ไม่ใช่ภาษีที่เรียกเก็บจากธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ และไม่ใช่ภาษีทั่วไปสำหรับธุรกิจที่ให้บริการทางดิจิทัล แต่เป็นภาษี
อย่างแคบที่เรียกเก็บจากธุรกิจที่สร้างรายได้จากการใช้ข้อมูลของผู้ใช้บริการตามที่ได้อธิบายไปในตอนต้น
-
Digital Services Tax มีขอบเขตบังคับใช้สำหรับกิจกรรมทางธุรกิจบางประเภท อันได้แก่ Social media platform, Search engine และ Online
-marketplace โดยจะมีการเรียกเก็บภาษีเฉพาะรายได้ที่เชื่อมโยงกับผู้ใช้บริการในสหราชอาณาจักรเท่านั้น
-
Digital Services Tax ในเบื้องต้นจะเรียกเก็บ 2 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ในข้อ 2 เฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่สร้างรายได้ดังกล่าวทั่วโลกมากกว่า
500 ล้านปอนด์ และสร้างรายได้
จากผู้ใช้บริการในสหราชอาณาจักรมากกว่า 25 ล้านปอนด์ (โดย 25 ล้านปอนด์แรกจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี)
อย่างไรก็ตาม แนวคิด Digital Services Tax ของสหราชอาณาจักรในปัจจุบัน ยังอยู่ในขั้นตอนของการปรึกษาหารือ ซึ่งหลังจากที่
สหราชอาณาจักรได้ประกาศว่าตนจะทำการเก็บDigital Services Tax ในเดือนเมษายน ปี 2020 ทางด้านอเมริกาก็ได้ออกมาโต้ตอบทันที
เนื่องจากบริษัทที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ เช่น Facebook Google Apple หรือ Amazonล้วนมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่อเมริกาทั้งสิ้น โดยกล่าวว่า
การดำเนินการเก็บภาษีดังกล่าว เป็นการละเมิดข้อตกลงทางด้านภาษี และได้เตือนว่าหากสหราชอาณาจักรดำเนินการต่อไปทางอเมริการ
ก็จะออกมาตอบโต้บ้าง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศได้ จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า
ทางสหราชอาณาจักรจะยังคงดำเนินการตามแนวคิดเดิมต่อไปหรือไม่ อย่างไร
นายอริญชัย เกตุแก้วมณีรัตน์ นิติกร