การศึกษาปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการทุจริตคอรัปชันและแนวทางในการจัดการและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันของส่
โครงการวิจัย
การศึกษาปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการทุจริตคอรัปชันและแนวทางในการจัดการและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันของส่วนราชการในกระทรวงการคลัง   (2556)
   
คณะวิจัย
 

นางสาวพนอศรี      ถาวรเศรษฐ์         ที่ปรึกษาโครงการ

นางสาวกรรณิการ์  เอกเผ่าพันธุ์         ที่ปรึกษาโครงการ

นางณัชกานต์        สว่างอารมณ์        หัวหน้าโครงการ

นายนพดล             จินดาธรรม           นักวิจัยภายนอก

นางสาวจิตรลดา   เสมอวงศ์              นักวิจัย

นางสาวสิริพรรณ  ศิริพงศ์ติกานนท์     นักวิจัย

นางสาวอรณิชา   สว่างฟ้า                 นักวิจัย

นางสาวพนารัตน์  พรายเมฆ               นักวิจัย

นางสาวกทลี       โสภาพันธ์               นักวิจัย

 

 

 

 

 

 

          การทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน ซึ่งผลการสำรวจดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน 20 อันดับแรก ประจำปี พ.ศ. 2554 ของประเทศในภูมิภาค ASIA PACIFIC ที่สำรวจจากทัศนะหรือการมองภาพจากกลุ่มนักธุรกิจและประชาชนทั่วไป พบว่า ภาพลักษณ์การคอร์รัปชันที่ดูโปร่งใสมากที่สุด 5 ลำดับแรกของภูมิภาค ASIA PACIFIC ได้แก่ นิวซีแลนด์ เป็นประเทศที่มีดัชนีชี้วัดสูงที่สุดในภูมิภาคและเป็นลำดับที่ 1 ของโลก รองลงมาได้แก่ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง และญี่ปุ่น ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 15 ของกลุ่มประเทศ ASIA PACIFIC และอยู่ในลำดับที่ 80 ของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ASIA PACIFIC แล้วอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเก๊า มาเลเซีย จีน ภูฏาน และบรูไน

          จากผลการสำรวจที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าระดับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยยังคงมีอยู่ในระดับสูง และการแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังคงต้องศึกษาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองที่มีลักษณะผูกขาดอำนาจอยู่ในมือคนกลุ่มน้อยที่มีทั้งทุนความรู้ อำนาจทางการเมือง อำนาจในการครอบงำข้อมูลข่าวสาร ขณะที่ประชาชนบางส่วนมีฐานะยากจน การศึกษาต่ำกว่าเกณฑ์ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมีจำกัด รวมทั้งประเทศไทยมีวัฒนธรรมแบบเล่นพรรคเล่นพวก เป็นผู้ชอบอยู่ใต้ความอุปถัมภ์ หวังพึ่งพาคนที่รวยกว่าหรือมีอำนาจมากกว่ามาช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นเรื่องๆ ให้กับตนมากกว่าที่จะเข้าใจเรื่องสิทธิหน้าที่ของพลเมืองและความเป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ส่วนราชการไทยมักจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายๆ สื่อเกี่ยวกับการแสดงบทบาทหน้าที่ที่มีการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งในปัจจุบันการทุจริตในระบบราชการเกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิมและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่มีหน้าที่ในการจัดหาเงินและจัดสรรเงินให้กับองค์กร และหน่วยงานต่างๆ จึงต้องมีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงในการตรวจสอบการใช้งบประมาณให้นำไปใช้อย่างถูกต้อง มีความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อการพัฒนาและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในประเทศ