การศึกษาแนวทางการนำ Negative Income Tax มาใช้ในประเทศไทย
โครงการวิจัย
การศึกษาแนวทางการนำ Negative Income Tax มาใช้ในประเทศไทย   (2556)
   
คณะวิจัย
 

นางลาวัลย์   ภูวรรณ์                    ที่ปรึกษาโครงการ

ดร.วโรทัย    โกศลพิศิษฐ์กุล       ที่ปรึกษาโครงการ

ดร.ปัณณ์      อนันอภิบุตร            หัวหน้าโครงการ

นายศุทธ์ธี     เกตุทัต                  นักวิจัย

ดร.มณีขวัญ จันทรศร                  นักวิจัย

ดร.สุมาพร    ศรีสุนทร                 นักวิจัย

นางสาวจารุพัสตร์ พลทรัพย์        นักวิจัย

นางสาววาทินี แก้วทับทิม         นักวิจัย

นายวิศรุต นามจรัสเรืองศรี         นักวิจัย

 

 

 

 

 

          ด้วยเหตุที่ระบบตลาดเสรีไม่อาจทำหน้าที่แก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในกระจายรายได้ได้อย่างสมบูรณ์ รัฐจึงต้องมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่แบ่งสรรปันส่วนรายได้ใหม่ ด้วยการดึงเอาความสามารถในการแสวงหารายได้ของผู้คนมาแปลงรูปเป็นภาษีอากร เพื่อนำมาจัดสรรแก่คนที่ด้อยกว่าในสังคมในรูปของสวัสดิการ ซึ่งแม้ว่าในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมารายจ่ายทางด้านสวัสดิการของรัฐบาลไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต แต่ด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับฐานข้อมูลของประชากร โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถกำหนดนโยบายแก้ปัญหาความยากจนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้ บ่อยครั้งที่รัฐบาลเลือกวิธีการช่วยเหลือคนยากจนและด้อยโอกาสในลักษณะการให้อย่างถ้วนหน้าเท่ากัน แต่การจัดสวัสดิการโดยขาดการตรวจสอบรายได้ของผู้รับประโยชน์ย่อมทำให้รัฐบาลมีภาระรายจ่ายสูงเกินจำเป็น (เพราะงบประมาณถูกจัดสรรไปยังผู้ที่ไม่จนจริง) ประกอบกับการที่ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบันไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อคนจนที่อยู่นอกระบบภาษีเท่าที่ควร กล่าวคือ คนจนที่อยู่นอกระบบภาษีไม่มีภาระภาษี จึงไม่มีเหตุที่ต้องบรรเทาภาระภาษีให้ (ไม่ได้ใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ) คนจนเหล่านี้จึงไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการบรรเทาภาระภาษีเท่าเทียมกับผู้ที่อยู่ในระบบภาษี

          งานวิจัยนี้จึงศึกษาถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยเจาะจงไปที่คนจนตัวจริง (Targeting for the Poor) ผ่านระบบภาษีที่เรียกว่า Negative Income Tax (NIT) ซึ่งเป็นการที่รัฐให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยด้วยการจัดสรรเงินโอนให้เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยวิธีการประสานระบบภาษีอากรและระบบสวัสดิการให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งการใช้นโยบายการคลังทั้งด้านรายได้ (Positive Income Tax) และรายจ่าย (NIT) ประกอบกัน จะส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันมากกว่าการใช้เครื่องมือทางการคลังด้านรายได้แต่เพียงอย่างเดียว