1. ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาโครงการ
2. นางสาวเกตสุดา สุประดิษฐ์ หัวหน้าโครงการ
3. นางสาวพรวสา ศิรินุพงศ์ นักวิจัย
4. ดร.สมคิด บุญล้นเหลือ นักวิจัย
5. นายธีวรา สุมาวงศ์ นักวิจัย
6. นางสาวเบญญาภา สุขีนุ นักวิจัย
7. ดร. พีรพัฒน์ วงศ์ชัยวัฒน์ นักวิจัย
การวิจัยเพื่อศึกษาเปรียบเทียบกฎระเบียบภายในประเทศสมาชิกอาเซียนด้านกฎหมายและข้อบังคับในสาขาธนาคารพาณิชย์และหลักทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินในกรอบอาเซียนเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) นี้ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ (1) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และเปรียบเทียบกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และ (2) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และเปรียบเทียบกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ โดยเน้นการวิเคราะห์เปรียบเทียบ (Comparative Study) กฎหมาย (Law) ข้อบังคับ (Regulation) และข้อผูกพันของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนที่ผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินไว้ตามที่ระบุในตารางข้อผูกพันเฉพาะ (Schedule of Specific Commitment: SOC) เป็นประเภทงานวิจัยเชิงประยุกต์ ใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน วิธีการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) โดยรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่และเวปไซต์ที่เป็นทางการของหน่วยงานราชการ หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงิน และองค์กรระหว่างประเทศ กรอบแนวคิดในการวิจัยมีการกำหนดปัจจัยนำเข้า (Input) โดยทำการศึกษาและแปลตารางข้อผูกพันเฉพาะ (SOC) ในรอบที่ 5 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) ซึ่งมีลักษณะเป็นตารางข้อผูกพันรวม (Consolidated SOC) ที่รวมข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินในภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) และภายใต้กรอบการเปิดเสรีบริการด้านการเงินของอาเซียนตั้งแต่รอบที่ 1 – 5 มารวมกันเป็นฉบับเดียว นอกจากนี้ ยังมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีในสาขาธนาคารพาณิชย์และสาขาหลักทรัพย์ของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบกฎหมาย ข้อบังคับภายในประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้ง SOC ว่าพบหรือไม่พบเงื่อนไขเกี่ยวกับอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาด (Market Access: MA) และอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการประติบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment: NT) ระหว่างธุรกิจธนาคารและหลักทรัพย์ในประเทศกับต่างประเทศหรือไม่ เพื่อนำมาสู่ผลผลิต (Output) ของงานวิจัย คือ สรุปการวิเคราะห์เปรียบเทียบกฎหมายและข้อบังคับสาขาธนาคารพาณิชย์และหลักทรัพย์ของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีด้านการเข้าสู่ตลาดและการประติบัติเยี่ยงคนชาติ ทั้งนี้ ได้จำแนกประเทศในอาเซียนเพื่อการวิเคราะห์เปรียบเทียบออกเป็น 2 กลุ่มประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน 6 (ASEAN 6) ที่ประกอบไปด้วยประเทศไทย บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ และกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ หรือ CLMV ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม...