โครงการวิจัย เรื่อง
การพัฒนาแบบจำลองในการวัดประสิทธิภาพ
และความคุ้มค่าของมาตรการด้านการเงินการคลัง
เพื่อสนับสนุนภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย
ที่ปรึกษาโครงการ
นางสาวสภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ
คณะผู้วิจัย
นายนรพรรษ เพ็ชรตระกูล
นางสาวปิยวัลย์ ศรีขำ
นายชาญณรงค์ จางกิตติรัตน์
นายณัฐพล สุภาดุลย์
นายศรัณย์วุฒิ ตรรกพงศ์
นางสาวศุภัชยา ปรีชม
สานักงานเศรษฐกิจการคลัง
บทสรุปผู้บริหาร
ภาคเกษตรกรรมถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ภาครัฐจึงมุ่งเน้นในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร โดยได้มีมาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือ ภาคเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไทยยังคงประสบปัญหาทั้งด้านรายได้และต้นทุน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีแนวทางในการประเมินความคุ้มค่าและประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณภาครัฐหรือการดำเนินมาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรกรรมของไทย เพื่อให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้เป็นรูปแบบและกระบวนการในการคัดสรรนโยบายหรือมาตรการที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมไทยต่อไป
งานวิจัยนี้จึงได้รวบรวมมาตรการด้านการเงินการคลังของประเทศไทยในช่วงปี 2551 – 2560 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนพืชเกษตรที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน โดยสามารถจำแนกเป็น 1) มาตรการด้านการสนับสนุนต้นทุน/ปัจจัย/วิธีการผลิตซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 2) มาตรการด้านการสนับสนุนเงินทุนซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือด้านเงินทุนในการประกอบอาชีพ และช่วยลดภาระดอกเบี้ยและภาระหนี้สินให้แก่เกษตรกร ทำให้มีเงินเหลือเพื่อการดำรงชีพเพิ่มขึ้น 3) มาตรการด้านการชะลอการขายซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณอุปทานในตลาด ช่วยชะลอปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก เพื่อยกระดับราคาผลิตผลการเกษตรให้สูงขึ้น และ 4) มาตรการด้านการสนับสนุนการตลาดซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากลไกในการซื้อขายผลผลิตการเกษตรที่เป็นธรรมให้แก่เกษตรกร รวมถึงหาช่องทางการค้าและตลาดใหม่ ๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้เพิ่มมากขึ้น
การประเมินความคุ้มค่าและประสิทธิภาพของนโยบายในงานวิจัยนี้พิจารณาจากผลกระทบของมาตรการต่ออรรถประโยชน์ (Utility) เกษตรกร โดยใช้แบบจำลองกำไรขาดทุนของเกษตรกร ซึ่งเป็นการประเมินผลกระทบต่อกำไรสุทธิของเกษตรกรจากการดำเนินนโยบายรัฐ และนำมาเปรียบเทียบกับงบประมาณรายจ่ายที่ใช้ในโครงการนั้น ๆ ในรูปแบบของสัดส่วนความคุ้มค่าและประสิทธิภาพ ดังนั้น หากสัดส่วนความคุ้มค่าและประสิทธิภาพมีค่ามากกว่า 1 แสดงว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าวนี้มีความคุ้มค่าและประสิทธิภาพ เนื่องจากผลกระทบต่อกำไรสุทธิของเกษตรกรจากการดำเนินนโยบายรัฐสูงกว่างบประมาณรายจ่ายที่ใช้ในโครงการนั้น ๆ
ผลการประเมิน พบว่า ความคุ้มค่าและประสิทธิภาพของมาตรการด้านการเงินการคลังในการสนับสนุนภาคเกษตรกรรมแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดพืชเกษตรและประเภทของมาตรการ ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและมาตรการลดดอกเบี้ยสินเชื่อเกษตรกรเป็นมาตรการที่มีความคุ้มค่าและประสิทธิภาพ มากที่สุด อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัตินั้น ภาครัฐไม่สามารถดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือมาตรการลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวได้ การดำเนินมาตรการด้านการเงินการคลังในการสนับสนุน ภาคเกษตรกรรมมักพิจารณาจากความต้องการของเกษตรกร ช่วงฤดูกาลเพาะปลูก และสถานการณ์การผลิตในช่วงเวลานั้น ๆ ส่งผลให้ในแต่ละปีการผลิต ภาครัฐจึงมักจะดำเนินมาตรการหลายด้าน ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อพิจารณาปรับปรุงมาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรกรรม ดังนี้
1) มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและมาตรการลดดอกเบี้ยสินเชื่อให้แก่เกษตรกรเป็นการทั่วไป มีความคุ้มค่าและประสิทธิภาพมากที่สุด โดยควรส่งเสริมให้เกษตรกรนำเงินที่ได้รับเพิ่มเติมหรือเงินเหลือจากการลดดอกเบี้ยไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนเพื่อเพิ่มผลผลิต อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐต้องการดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนการปลูกหรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตควรมีการเพิ่มความรู้และพัฒนาทักษะให้กับเกษตรกรควบคู่ไปด้วย
2) มาตรการอุดหนุนต้นทุนการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแบบเฉพาะเจาะจง (Targeted Measures) มีสัดส่วนความคุ้มค่าและประสิทธิภาพมากกว่ามาตรการอุดหนุนต้นทุนการผลิตแบบไม่มีเงื่อนไข ดังนั้น ภาครัฐควรกำหนดวัตถุประสงค์ของมาตรการอุดหนุนต้นทุนการผลิตให้ชัดเจน และควรให้ความรู้และพัฒนาทักษะของเกษตรกรให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมาตรการ ควบคู่ไปกับการอุดหนุนต้นทุนการผลิตด้วย
3) มาตรการสนับสนุนด้านราคาควรเป็นการบริหารอุปทานภายใต้ระบบตลาดปกติ โดยกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือขายผลผลิตในช่วงเวลาเดียวกัน แทนการใช้มาตรการแทรกแซงตลาดโดยตรง และควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือให้เป็นเกษตรกรโดยตรงแทนการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหรือพ่อค้าคนกลางเป็นผู้บริหารอุปทาน
4) ในอนาคตภาครัฐควรจัดให้มีระบบการประเมินความคุ้มค่าและประสิทธิภาพของการดำเนินมาตรการของภาครัฐ รวมถึงการเก็บข้อมูลผลการดำเนินมาตรการอย่างเป็นระบบ อีกทั้งหน่วยงาน ที่รับผิดชอบในการออกแบบและดำเนินมาตรการต้องให้ความสาคัญในการจัดทำฐานข้อมูลและการประเมินความคุ้มค่าและประสิทธิภาพของมาตรการด้านการเงินการคลังในการสนับสนุนภาคเกษตรกรรม เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่ครบถ้วนและสามารถประเมินผลทางเศรษฐกิจของโครงการในมิติอื่น ๆ ได้เพิ่มเติมในอนาคต